ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสเรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI  ได้รับการพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากหลายบริษัททั่วโลกเริ่มนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้ในองค์กรมากขึ้น จนเกิดบทสนทนาในสังคมที่ว่าท้ายที่สุดพนักงานที่ไม่มีทักษะด้านดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ

สำหรับบริษัทประเทศไทยหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพยายามสร้างองค์ความรู้ด้านเอไอให้บุคลากร หนึ่งในนั้นคือการสร้างแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ผ่านการอบรมจากค่าย Super AI Engineer ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการก่อตั้งค่ายและความท้าทายในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเอไอให้สังคมไทย วันนี้ Insiderly.ai ชวนพูดคุยกับ ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยและผู้ก่อตั้ง

จุดเริ่มต้นของ ‘Super AI Engineer’

ดร.เทพชัย เริ่มเล่าให้ฟังว่า ค่าย Super AI Engineer เริ่มต้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในสมัยที่เอไอชนะการแข่งขันหมากล้อมเป็นครั้งแรก โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เล็งเห็นความสำคัญของเอไอจึงให้งบประมาณเพื่อจัดตั้งค่ายดังกล่าว ซึ่งในยุคแรกเริ่มเป็นเพียงค่ายสำหรับนักวิชาการและนักวิจัยเท่านั้น ก่อนที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเปิดให้ประชาชนทุกคนที่สนใจเข้าร่วม 

จุดประสงค์ของค่ายนี้คือการสร้าง “วิศวกร” ด้านเอไอ ที่มีความสนใจอยากไปประกอบอาชีพทั้งหมด 5 ด้านคือ วิศวกรที่อยากทำงานด้านวิศกรรม วิศวกรที่อยากเป็นนักวิจัย วิศวกรที่อยากเป็นนวัตกร วิศวกรที่อยากเป็นผู้ประกอบการ และวิศวกรที่อยากเป็นผู้สอน

โดยตั้งแต่วันแรกที่มีไอเดียจัดตั้งค่าย ตอนนี้ ดร.เทพชัยเล่าให้ฟังว่าจัดค่ายนี้มาทั้งหมด 4 ปีแล้วและก็มีผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ “ปีแรกเรามีผู้มาสมัคร 2,000 คน ปีที่สอง 5,000 คน ปีที่สาม 6,000 คน และล่าสุดปีที่สี่มีเกือบ 8,000 คน”

“อย่างในซีซันสองมีคนมาสมัครที่เด็กที่สุดคือ 9 ขวบ ส่วนคนที่อายุมากที่สุดคือ 80 ปี โดยหลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว คนที่อายุต่ำที่สุดคือ 16-17 ปี ในขณะที่สูงสุดคือ 55 ปี ซึ่งคนที่เข้ามาในค่ายก็มาจากหลายวิชาชีพ ทั้งคนที่ทำงานด้านเอไอ วิศวกร หมอ นักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งพนักงานต้อนรับภาคพื้นในสนามบิน”

ดร.เทพชัยอธิบายต่อว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องใช้เวลาอยู่ในค่ายทั้งหมดประมาณ 1 ปีและแบ่งขั้นตอนการเข้าร่วมเป็นทั้งหมด 3 ระดับ ซึ่งเมื่อสามารถผ่านการคัดเลือกเข้ามาได้แล้ว ทุกคนจะเข้ามาในระดับที่ 1 เพื่อปูพื้นฐานการใช้ตรรกะและการเขียนโปรแกรม 

หลังจากนั้นก็จะเลื่อนไประดับที่ 2 ซึ่งเป็นลักษณะการแข่งแฮกกาธอนคือผู้เข้าร่วมจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม เพื่อรับโจทย์จากภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ ในวันจันทร์และวันศุกร์ทุกคนก็จะมาแข่งขันกันและประกาศผล  โดยกระบวนการจะเป็นลักษณะนี้ทั้งหมดประมาณ 2 เดือนก่อนที่ผู้เข้าร่วมทุกคนจะเข้าไปที่ระดับ 3 คือการไปทำงานในสถานประกอบการจริง 2 เดือน 

ค่าย Super AI Engineer โอลิมปิกวิชาการด้านเอไอ (?)

เมื่อถามว่าค่ายนี้เป็นเหมือนโอลิมปิกวิชาการของคนที่สนใจด้านเอไอหรือไม่ ดร.เทพชัย อธิบายว่า หลายคนบอกว่าความยากในการเข้าคล้ายโอลิมปิกวิชาการ ทว่าสิ่งที่แตกต่างคือค่ายนี้จะไม่เน้นทฤษฎีมากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นการรับโจทย์จากหน่วยงานต่างๆ หรือการไปทำงานในสถานประกอบการเป็นเวลา 2 เดือนก่อนจบค่าย

ทั้งนี้ ดร.เทพชัย กล่าวต่อว่า ค่ายนี้ได้รับความไว้วางใจถึงขนาดที่ว่า หากนักเรียนมัธยมคนไหนสามารถเข้ามาในค่ายได้ มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง พร้อมรับเข้าไปเรียนต่อในรอบพอร์ตโดยไม่ต้องสอบ หรือนักศึกษาในบางมหาวิทยาลัยก็สามารถนำใบประกาศของค่ายไปบายพาสการเรียนวิชาบางวิชาในมหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกัน เช่น Introduction to AI เป็นต้น

ตัวอย่างศิษย์เก่าค่ายที่ออกไปโลดแล่นในวงการเทคฯ

หลังจากจัดค่ายมาทั้งหมด 4 ซีซัน ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดร.เทพชัย ยกตัวอย่างถึงศิษย์เก่าคนสำคัญๆ ให้ฟังว่า หลายคนจบจากค่ายไปก็มีโอกาสเปลี่ยนสายและได้รับเงินเดือนและประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น 

“คนแรกคือเขาเป็นคุณหมอที่พยายามยื่นเรียนต่อปริญญาเอกที่ต่างประเทศอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนตอบรับ แต่เมื่อมาเข้าค่ายของเราแล้ว เขายื่นเอกสารเพื่อเรียนต่อ คราวนี้มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากออฟเฟอร์ให้เขาเข้าไปเรียน ตอนนี้ก็ได้จับมือกับเพื่อนที่เจอกันในค่าย ซึ่งมาจากวิศวะจุฬาฯ เพื่อสร้างสตาร์ทอัพด้วยกัน”

“อีกคนหนึ่งเป็นนักศึกษาปีต้นๆ จากวิศวะ จุฬาฯ เขามีความฝันว่าอยากทำสตาร์ทอัพมาตั้งนานแล้ว พอมาเข้าค่ายได้ความรู้ไป ตอนนี้เขามีบริษัทเป็นของตัวเองตั้งแต่เรียนอยู่ปีที่สอง”

“คนที่สามเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มาเข้าค่ายกับเราพอจบไป สถานการณ์ในมหาวิทยาลัยพลิกผันได้มาเป็นผู้ช่วยอธิการบดีด้าน E-learning และการศึกษา เขาก็พาเพื่อนๆ ในค่ายไปช่วยกันจัดทำหลักสูตรด้านเอไอให้มหาวิทยาลัย”

“ส่วนคนที่สี่ก่อนหน้านั้นเป็นพนักงานต้อนรับบนภาคพื้นดินกับสายการบินหนึ่ง  เขาขยันมากจนผ่านการคัดเลือกเข้ามาในค่าย สุดท้ายมีบริษัทเทคฯ ดึงตัวไปทำงานเพราะมีทั้งสกิลด้านการสื่อสาร สามารถเขียนโปรแกรมเบื้องต้นได้ ดังนั้นก็สามารถเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างลูกค้ากับคนทำงานเทคฯ จ๋าๆ ได้”

จากตัวอย่างทั้งหมด ดร.เทพชัยอธิบายว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความมุ่งมั่นและสนใจด้านเอไอก็เข้ามาในค่าย Super AI Engineer ได้ ขอแค่มีความตั้งใจ “ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ใช้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมแต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือการใช้ตรรกะและเขียนโปรแกรม ซึ่งในค่ายมีหลายคนที่เก่งเรื่องนี้มาสอนตั้งแต่เริ่มต้น”

ทั้งโลกขาดแคลนแรงงานด้านเอไอ

เมื่อถามถึงความต้องการแรงงานด้านเอไอ ดร.เทพชัย เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ทั้งโลกขาดแคลนคนที่มีความรู้ด้านเอไออย่างมาก และที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ายในลักษณะนี้แค่ 2 แห่งเท่านั้นคือที่สิงคโปร์และประเทศไทย

“หลายประเทศขาดแคลนบุคลากรด้านเอไอ อย่างญี่ปุ่น เกาหลี จีนก็ขาดแคลนแต่เขาก็ไม่มีค่ายในลักษณะนี้ จะมีก็แต่ในสิงคโปร์ที่ทำ ค่าย AI Apprentice แต่มีข้อแตกต่างคือของสิงคโปร์เขาจะคัดเลือกคนที่เก่งในแต่ละสายมาฝึกและป้อนเข้าตลาดแรงงาน ทว่าสำหรับค่าย Super AI Engineer เราไม่กีดกั้นใครเลย ขอแค่คุณมีความสนใจด้านเอไอ เราพร้อมจะให้ความรู้ ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าเทรนด์ของคนที่สนใจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

เรียกร้องภาครัฐให้การสนับสนุนสร้างบุคลากรเอไอ

นอกจากนี้ ดร.เทพชัย เล่าต่อว่า ปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันถึงโมเดลการหาเงินของค่ายอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่จัดทำค่าย คณะผู้จัดทำให้ทุนการศึกษาสำหรับทุกคนที่ผ่านการคัดเลือก แต่เวลาผ่านไปเมื่องบประมาณที่ได้จากภาครัฐน้อยลงในปีที่ 4 นี้ เงินสนับสนุนจึงไม่เพียงพอต่อการให้ทุนกับผู้สมัครท่านไหนเลย

“ภาครัฐเขาบอกว่าค่ายก็จัดมา 4 ปีแล้วแต่ทำไมยังไม่สามารถหาโมเดลการหารายได้แบบยั่งยืนโดยไม่พึ่งภาครัฐได้ เช่นการไปของบสนับสนุนจากภาคเอกชน แต่พอไปคุยกับภาคเอกชนเขาก็มักจะบอกว่า หน้าที่การสร้างคนควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ทั้งหมดจะเห็นได้ชัดเจนว่ายังมีความไม่ลงตัวในเรื่องเงินทุนการจัดตั้งค่ายอยู่”

ดร.เทพชัย กล่าวเสริมว่า “ค่ายนี้เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ที่ไม่ควรทิ้ง ดังนั้นมันจะมีหลายวิธีที่อยากให้รัฐมองเห็นและเขาต้องมองเห็นภาพที่เป็น Ecosystem ด้านการสร้างบุคลากรด้านเอไอมากขึ้น และผมว่ารัฐต้องลงทุน ส่วนเอกชนจะเข้ามาก็ได้ แต่ก็เข้ามาเท่าที่ทุนเขาพอมี”

“ถ้าภาครัฐตั้งใจว่าจะสร้างแรงงานที่มีทักษะในสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่เริ่มเข้ามาตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคเรามากขึ้น ผมมองว่าการลงทุนสร้างทักษะแรงงานอย่างแท้จริงก็อาจจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมก็เป็นได้”

อนาคตค่าย ‘Super AI Engineer’

เมื่อถามถึงอนาคตของค่ายที่เขาปลุกปั้นมากับมือ ดร.เทพชัย บอกว่า ต้องการสร้างบุคลากรด้านเอไอเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของทั้งโลก โดยในการจัดค่ายปีล่าสุด มีพันธกิจให้ผู้เข้าร่วมค่ายทุกคนว่า หลังจากจบค่ายไป หากเป็นไปได้อยากให้ทุกคนกลับมาแชร์และกลับมาสอนน้อง ๆ ในปีต่อๆ ไป โดยทั้งหมดคือการเปลี่ยนทุกคนจาก Learner เป็น Coacher 

“หลายคนมักถามว่าถ้าบุคลากรด้านเอไอขาดแคลนขนาดนี้ แล้วคนที่จบจากค่ายไปเขาจะไม่ไปทำงานให้ Google Nvidia หรือบริษัทเทคฯ ดังๆ กันหมดหรือ ส่วนตัวผมคิดว่าเราไม่มีขอบเขตแล้วในตอนนี้ และผมก็เชื่อว่าถ้าโครงการเราตั้งใจดีแบบนี้ก็จะมีเด็กที่จบจากค่ายเราและทำงานที่ต่างประเทศกลับมาให้ความร่วมมือหรือมาช่วยเหลืออีกจำนวนมาก”

“อย่าคิดว่าให้เขาผูกพันตรงนี้ แต่ให้เขาไปทำงานในที่ต่างๆ และกลับมาช่วยเราจะดีกว่า ให้พวกเขามีอิสระและเต็มใจจะดีกว่า คนมีงานประจำก็จริง แต่เขาอยากช่วยเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องมาเป็นฟูลไทม์ก็ได้ แบบนี้ก็เป็นการ Contribute รูปแบบหนึ่งให้ประเทศ”

“อีกอันหนึ่งที่ผมคิดคือถ้าแรงงานด้านเอไอมันขาดมากขนาดนั้น ก็ไม่เห็นจะแปลกเลยที่เราจะสร้างคนเก่งและส่งไปทำงานที่ต่างประเทศ เหมือนกับอินเดียที่ส่งซีอีโอออกไปอยู่ทั่วโลก ให้ทั่วโลกเห็นว่าถ้าพูดถึงเอไอ ต้องมาที่ประเทศไทยนี่แหละ”

“แล้วผมก็ฝันว่าถ้าเรามีคนเก่งมากในระดับหนึ่ง ผมอยากให้บริษัทใหญ่ๆ ที่เค้าเข้ามาลงทุน ไม่ใช่ให้เข้ามาลงทุนในฐานะ Distributor หรือว่ามาขายของให้เราอย่างเดียว แต่เขาต้องมาลงทุนในฐานะศูนย์วิจัย และถ่ายทอดความรู้ให้กับเรา แบบนั้นประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย”

ความรู้ด้านเอไอที่คนทั่วไปควรรู้

ท้ายที่สุด บทสนทนาที่คุยในวันนี้ดูเหมือนจะพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นด้านเอไอสำหรับผู้ที่ต้องการลงลึกในด้านปัญญาประดิษฐ์ ทว่าเมื่อถามว่าแล้วคนทั่วไปควรมีความรู้อะไรเกี่ยวกับเอไอ อุปนายกสมาคมเอไอประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า เราต้องใช้เอไอให้เป็นและมีทักษะด้านการตัดสินใจ

“อย่างแรกคือเราต้องไม่ปิดหูปิดตา ทุกคนต้องเข้าใจว่าเอไอเป็นฐาน เราต้องใช้เอไออยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว พอเรามีความตระหนักรู้ด้านเอไอแล้วเราจะใช้มันไปในทิศทางไหน สมัยนี้ง่ายที่สุดก็คือการใช้เจเนอเรทีฟเอไอช่วยทำงาน มันคือการก้าวเข้าสู่โลกของปัญญาประดิษฐ์ มองเป็นตัวช่วยที่ดี หรืออาจารย์บางท่านอาจบอกว่าให้มองเป็นพาร์ทเนอร์ ด้วยซ้ำ แต่ผมคิดว่าแค่เครื่องมือก็พอ”

“ที่สำคัญทุกคนควรใช้มันให้ถูกประโยชน์ โดยสกิลที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจ เราต้องเป็นผู้ตัดสินว่าข้อมูลที่มันหามาให้นั้นใช่หรือไม่ใช่ เพราะสุดท้ายผลลัพธ์ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นด้วยข้อมูล ดังนั้นเมื่อได้คำตอบมาแล้ว เราก็มาเช็กทีหลังอีกว่ามันถูกต้องหรือไม่” 

“ถ้าพูดตามคำศัพท์ในวงการคือคำว่าใช้เอไอเป็น Co-pilot ใช้เขา แล้วเราก็ต้องเป็น Pilot ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นมันจะอันตรายมาก” 

Great! Next, complete checkout for full access to The Insiderly AI.
Welcome back! You've successfully signed in.
You've successfully subscribed to The Insiderly AI.
Success! Your account is fully activated, you now have access to all content.
Success! Your billing info has been updated.
Your billing was not updated.