Panel Discussion : Future of AI and Thai Business: Innovation & Growth
Panelists :
- ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ , Senior Researcher NECTEC
- ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย , Founder & CEO BOTNOI Group
- คุณธัชกรณ์ วชิรมน , CEO บริษัท Sertis
Moderator : ดร.ธันวา อาภรณ์ทิพย์ (Senior Tech Advisor, SCB 10X)
Event : SCBX Unlocking AI EP1 , Thailand Path to AI opportunities
Collaboration : SCBX และ Insiderly.ai
Venue : SCBX NextTech, สยามพารากอน ชั้น 4
เก็บตกเสวนา Future of AI and Thai Business: Innovation & Growth กับ 6 ประเด็นเรื่องอนาคตของ AI และธุรกิจนวัตกรรมไทย
คนทำธุรกิจในปัจจุบันล้วนมีคำถามว่า จะใช้ AI อย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ
ดร.ธันวา อาภรณ์ทิพย์ Senior Tech Advisor SCB 10X จึงชวน ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ Senior Researcher NECTEC คุณธัชกรณ์ วชิรมน CEO Sertis และดร.วินน์ วรวุฒิชัย Founder & CEO BOTNOI Group คุยในประเด็นดังกล่าว และเล่าถึงกรณีศึกษาที่แต่ละคนต่างพบเจอ ซึ่งมีประโยชน์ไม่น้อยต่อการทำธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป
> ธุรกิจไปไม่สวย ยอดขายไม่ดี AI สามารถช่วยองค์กรได้
คุณธัชกรณ์ เล่าว่า Sertis มีระบบที่ช่วยให้หากร้านไหนมีสาขาเยอะ ก็สามารถทำให้สั่งสินค้าโดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ได้ มีลูกค้าที่ใช้ระบบนี้จาก Sertis ก็ช่วยให้ยอดขายเพิ่ม ในขณะเดียวกันต้นทุนต่างๆ ก็ลดน้อยลงด้วย
ด้าน ดร.วินน์ เล่ากรณีศึกษาที่เขาเคยเจอ โดยเกริ่นถึงตัวย่อ AI ว่า A คือ Automation หรือความซ้ำๆ เดิมๆ ซึ่งพบเจอได้ในองค์กรที่ขนาดใหญ่ I คือ Inside ความหยั่งรู้จากข้อมูลของลูกค้า สิ่งที่ BOTNOI เชื่อมั่นคือเราสอนให้ AI มาทำเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ แทนมนุษย์ได้ เช่น การเอา AI มาตอบคำถามลูกค้า แม้บางครั้ง Bot อาจไม่สามารถปิดการขายได้ แต่อย่างน้อยก็จะได้ข้อมูลหรือ Lead ของลูกค้า ให้พนักงานสามารถใช้ปิดการขายในเวลาต่อไปได้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม AI ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มาก
ส่วน Inside เป็นงานของ Data Scientist ซึ่งก็สามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ค่ายโทรศัพท์มีปัญหาลูกค้าย้ายค่าย ค่ายสามารถนำ Inside นี้มาใช้เป็น Lead เพื่อคาดการณ์ว่า ใครมีสิทธิ์ที่จะย้ายค่ายต่อ จากนั้นเอาข้อมูลดังกล่าวไปทำการตลาด เพื่อทำให้ลูกค้าอยากอยู่ต่อด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
> ขอ Data ข้ามหน่วยงาน ปัญหาน่าเบื่อที่สำคัญ
การขอ Data จากต่างองค์กรมาใช้งานมีข้อจำกัดมากมาย แม้กระทั่งการขอข้อมูลจากในองค์กรตัวเองก็ต้องใช้เวลานานเช่นกัน ดร.วินน์ มองว่า การแชร์ข้อมูลกันนั้นทำได้ยากเพราะหลายคนหวงข้อมูล ซึ่งยังไม่มีคำตอบว่าจะหวงไปทำไม
ดร.อภิวดี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน หน่วยงานรัฐมีกฎหมายที่ให้ข้อมูลแต่ละหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงกันได้ ล่าสุดก็คือข้อมูลด้านการแพทย์ แต่ในภาคเอกชนยังไม่มี ทำให้ยังต้องเน้นสร้างความเข้าใจกันต่อไป ว่าขอบเขตการใช้งานข้อมูลร่วมกันควรเป็นอย่างไร สำคัญหรือมีข้อจำกัดอย่างไร และ AI จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
คุณธัชกร เสริมว่า ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นเพราะความกังวลเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นผู้ใช้งานต้องทำให้มั่นใจว่า ข้อมูลที่ลูกค้าหรือใครได้ไป จะมีความปลอดภัย และทำให้ข้อมูลที่เกินกว่าความต้องการหลุดออกไปสู่คนไม่ประสงค์ดี
> หนามยอกเอาหนามบ่ง แก้ปัญหา Talent ด้าน AI ไม่พอได้ ด้วย Data Science
เพราะ AI ยังเป็นเรื่องที่กำลังเติบโต กำลังได้รับความนิยม แต่คนที่ทำงานด้านนี้ในเมืองไทยยังมีน้อย ทำให้กำลังคนอาจไม่พอต่อการทำงานในโลกจริง
BOTNOI ยอมรับว่า ที่ผ่านมาไม่เคยรีครูทพนักงานด้าน AI มาร่วมงานได้ จึงใช้วิธีปั้นคนของตัวเองขึ้นมา ด้วยเริ่มจากการเปิดคลาสสอนด้าน AI ที่ออฟฟิศ ปรากฏว่าคนสมัครมาเรียนมาร่วมงานเยอะมาก แสดงว่ามีคนอยากทำงานด้านนี้ เพียงแต่ไม่มีโอกาส โดยเฉพาะคนที่ไม่มีประสบการณ์
จากการคัดเลือกคนมาเรียน 500 คนให้เหลือ 20 คนก็เป็นไปในทางยาก แต่ก็สามารถใช้ Data Science ในการคัดเลือกคนจนได้ผู้สมัคร 20 คนที่สามารถกลั่นออกมาจนกลายเป็น Data Scientist ช่วยยกระดับองค์กรจริงๆ
อีกวิธีที่ได้ผลดีคือการไปคลุกคลีกับนักศึกษา การเข้าไปสอนเรื่อง AI ในมหาวิทยาลัย เพื่อดึงดูดใจให้นักศึกษาที่สนใจมาร่วมงานด้วย ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับที่ดีเช่นกัน
> การแข่งขันด้วย AI กับการลบเส้นแบ่งระหว่างชาติ
หากต้องการให้ไทยสู้กับต่างชาติได้อย่างสูสีเรื่องของ AI ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ มองว่า ควรสนับสนุนคนทำงานในหลายด้าน ด้วยการลบกำแพงด้านเทคโนโลยี เพื่อให้พร้อมรับมือกับวันที่กฎหมายด้านเทคโนโลยี AI เปิดกว้าง ก็จะสามารถแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ การที่จะพัฒนา AI อาจทำได้โดยไม่ต้องรอต่างชาติอย่างเดียว ไทยสามารถทำให้เป็นข้อได้เปรียบได้หากสามารถพัฒนา AI ที่เป็นของไทยเอง เข้าใจภาษาไทยเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองนอกยังมองไม่เห็นความสำคัญ แม้กระทั่ง ChatGPT ก็ยังไม่เก่งมากเรื่องนี้ ยังไม่สามารถใช้ ChatGPT ช่วยแต่งกลอนแปดที่ไพเราะได้
ธัชกรณ์ เสริมว่า จำเป็นมากที่คนไทยจะต้องใช้ประโยชน์จากความ Local แล้วก้าวไปสู่ Global การทำ AI ที่เป็นของไทย เข้าใจภาษาไทย จะเป็นแต้มต่อที่นำไปสู่การพัฒนา และสร้างการแข่งขันได้อย่างดี ซึ่งปัจจุบัน ต่างชาติยังจัดระดับว่าภาษาไทยอยู่ Tier 3 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ ทั้งที่ยังมีโอกาสอีกมากมายของ AI ภาษาไทยรออยู่
> AI สอนคนได้ แต่ใครสอน AI
นับวัน AI ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ดร.วินน์ มองว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยจริงๆ ในการใช้ประโยชน์ เพราะทุกคนสามารถ Interact ใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ได้มากมาย สามารถเอามาใช้สอนหนังสือได้ ช่วยแบ่งเบาภาระของครูได้มากมาย และสอนในทิศทางที่อยากไป
แต่ ดร.วินน์ ก็ตั้งข้อสังเกตว่า AI ที่มาสอนเรานั้น ใครเป็นคนสอน AI นั้นมาก่อน ซึ่งควรต้องระวังด้วยว่าสิ่งที่สอน เป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก
ธัชกรณ์เสริมว่า สิ่งที่เขาคาดหวังว่าการเข้าถึง AI ได้ง่าย ไม่ว่าใครก็ตามสามารถใช้ได้ ทุกบริษัทมี Data แต่ไม่ใช่ทุกที่สามารถวิเคราะห์ หรือมี Data Scientist ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล เอามาใช้ประโยชน์ได้เก่งจริงๆ การมีคนที่สามารถใช้งาน AI ได้เชี่ยวชาญ จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม และทำให้เกิดการพัฒนาในการต่อๆ ไป
> อยากใช้ AI องค์กรต้องปรับตัวให้ถูกจุด
ดร.อภิวดี มองว่าองค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าต้องการ AI ไปใช้งานอะไร AI ที่มีในท้องตลาดตอบโจทย์องค์กรหรือไม่ หน่วยงานภาครัฐต้องกลับไปคิดว่า จะสามารถสร้าง Insight อะไรเพื่อประชาชนได้บ้าง
ทั้งนี้ องค์กรที่ผู้บริหาร ผู้นำรู้และเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้จะเป็นแต้มต่อสำคัญกว่าองค์กรอื่นๆ ในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ
ด้าน ดร.วินน์ มองว่าสิ่งสำคัญสุดที่ทุกองค์กรต้องคำนึงก็คือ การสร้างกำไร หน้าที่ของ CEO คือการดูว่าจะทำยังไงให้ AI ช่วยให้ Profit ดีขึ้น สามารถเอา AI มาใช้ในจุดไหนได้บ้าง โดยอาจเริ่มจากการเอามาใช้แก้ปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ ในองค์กร (Automation) ขอเพียงลดต้นทุนได้ 30% ก็ช่วยลดความสูญเสีย ช่วยองค์กรประหยัดเงินที่จำเป็นได้มากแล้ว และสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วย
ขณะที่ ธัชกรณ์ เล่าว่า องค์กรใหญ่อาจเดินหน้าต่อไปได้โดยมีอุปสรรคน้อย แต่จากการที่เคยพูดคุยกับ SMEs หลายองค์กร ก็รู้สึกเห็นใจเพราะขยับขยายได้ยากกว่าในด้านการเอา AI มาใช้ ทุกวันนี้จึงพยายามหาวิธีเพื่อช่วยเหลือ SMEs องค์กรขนาดเล็กให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง
เพราะหากต้องการเห็นแวดวงธุรกิจไทยแข็งแกร่ง จะให้องค์กรใหญ่รอดอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องช่วยองค์กรเล็กให้เดินหน้าได้ด้วย