Panel Discussion : From Concept to Creation: Executing Gen AI Solutions for Impactful Results
Event : SCBX Unlocking AI EP2 , New Era of Generative Images
Collaboration : SCBX และ Getty Images
Venue : SCBX NextTech, สยามพารากอน ชั้น 4
Moderator : คุณพงษ์ปิติ ผาสุขยืด , Founder AD ADDICT
Panelist :
- คุณฐิติพันธ์ ทับทอง Head of Creative , Brilliant & Million
- คุณภรณ์ธนา พรประเสริฐ Head of Digital Communication , SANSIRI
- คุณชลิต ตันติธรรม Senior Business Development Manager , Getty Images
AI อาจถือเป็นศัตรูของคนทำงานสายครีเอทีฟ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่หากมองมุมกลับอีกด้านหนึ่ง AI สามารถเป็นพันธมิตรรายสำคัญที่สามารถช่วยคนหัวครีเอทีฟสร้างสรรค์งานที่น่าสนใจได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว และหากใครใช้งานมันอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดล่ะก็ มั่นใจได้ว่าจะเกิดผลที่ดีตามมาแน่นอน
ใน Panel เสวนา From Concept to Creation: Executing Gen AI Solutions for Impactful Results คุณฐิติพันธ์ ทับทอง Head of Creative Brilliant & Million, คุณภรณ์ธนา พรประเสริฐ Head of Digital Communication SANSIRI และคุณชลิต ตันติธรรม Senior Business Development Manager Getty Images ได้ร่วมพูดคุยกันถึงการใช้งาน AI ในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยมีคุณพงษ์ปิติ ผาสุขยืด Founder AD ADDICT เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับประเด็นน่าสนใจที่คนสายครีเอเตอร์ควรต้องรู้จากการเสวนา มีดังต่อไปนี้
เจาะคำถามคาใจ AI ใช้ทำอะไรได้บ้างกันแน่?
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ChatGPT ที่เป็นโปรแกรม AI Chatbot ทำให้เกิดภาพจำว่า จริงๆ แล้ว AI ทำงานในฟอร์แมตนี้แบบเดียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว AI สามารถใช้งานได้หลายอย่างมากกว่านั้น
แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องการใช้งาน คุณชลิต อธิบายว่าก่อนใช้งาน AI ผู้ใช้งานต้องรู้ก่อนว่าจะใช้ AI ไปเพื่ออะไร ต้องไม่แห่ไปตามใช้งานเพียงเพราะใครๆ ก็ใช้กัน มิฉะนั้นจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด
เช่น หากต้องการเขียนอีเมลเพื่อสื่อสารกับลูกค้า เราสามารถใช้ ChatGPT ช่วยร่างข้อความ ช่วยเหลาคำให้มีความเป็นทางการ มีความเป็นมืออาชีพได้ แม้บางทีการใช้งาน AI ให้ทำสิ่งต่างๆ ให้อาจไม่ได้ผลเสมอไป แต่มันก็เป็นเรื่องดีที่จะทำให้ทั้งคนและปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน
ด้านคุณฐิติพันธ์ มองว่า ปัจจุบันในแวดวงการสร้างสรรค์สื่อโฆษณา AI สามารถช่วยงานด้าน Pre Production ได้ครบถ้วนหมดทุกกระบวนการ เช่น การทำสคริปต์ การเขียนสตอรี่บอร์ด ทำมอคอัพฉาก ซึ่งช่วยประหยัดเงิน ประหยัดงบประมาณไปได้มาก แต่ยังต้องระมัดระวังเรื่องลิขสิทธิ์ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ของการใช้งานที่อาจไม่คาดคิดว่าเป็นปัญหาด้วย
ส่วนคุณภรณ์ธนา เผยว่าเธอใช้ ChatGPT เป็นหลักในแปลภาษา แก้แกรมม่า รวมถึงการแม้กระทั่งการหาภาพเป็น Reference ที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อใช้ Generative AI แล้ว อย่าเชื่อมันทุกอย่างว่าข้อมูลถูกต้องครบถ้วน แต่ควรตรวจสอบรายละเอียดด้วย เพื่อความสมบูรณ์แบบของงานอย่างแท้จริง
ลิขสิทธิ์กับ AI สู่ดราม่าบนโลกโซเชี่ยล
ไม่นานมานี้มีดราม่าบนโลกออนไลน์เรื่องของลิขสิทธิ์กับ AI โดยเฉพาะในสายงานสร้างสรรค์ ด้วยความกังวลว่า ควรต้องระวังการใช้ AI สร้างสรรค์ภาพอย่างไร จึงจะไม่เกิดปัญหาตามมา
คุณภรณ์ธนา แชร์ว่ารู้ว่า SANSIRI ตระหนักถึงประเด็นนี้ดี เพราะ SANSIRI ต้องการใช้งาน AI ที่ไม่ผิดลิขสิทธิ์ หากสิ่งใดที่สามารถทำให้ถูกกฎหมายได้ และจริงอยู่ว่าการใช้ AI ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้หลายอย่าง แต่หากการใช้ AI แบบถูกลิขสิทธิ์จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยก็พร้อมจ่าย เพราะหากใช้อย่างถูกต้องก็จะช่วยป้องกันการโดนฟ้อง ที่จะเสียเงินมากกว่านั้นหลายเท่า
ด้านคุณฐิติพันธ์ เชื่อว่า ถ้าเราเป็นคนให้คุณค่ากับคน และงานของผู้อื่น เราจะฉุกคิดได้เองว่าเราควรทำสิ่งใด ไม่ควรทำสิ่งใด ถ้าเราไม่อยากให้ใครขโมยไอเดียเรา เราก็ต้องไม่ขโมยไอเดียใครเหมือนกัน
นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมว่า หลักการทำงานของ AI มันเรียนรู้ภาพต่างๆ แล้ววาดใหม่ จนบางทีมันวาดเก่งจนเกินไป ความเป็นศิลปินเกิดขึ้นเพราะการศึกษางานศิลปะเยอะจนตัวเองรู้ว่าชอบงานสไตล์ไหน และฝึกฝนจนฝีมือแม่นพอ ซึ่ง AI ก็เป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การสั่ง AI ให้เลียนแบบสไตล์งานของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ถ้าต้องการงานเหมือนกับของศิลปินท่านไหน ก็จ้างเขาให้มาช่วยสร้างสรรค์งานเองจะดีกว่า มิฉะนั้นจะเหมือนการจ้างศิลปินโนเนมมาวาดรูปเลียนแบบให้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปไม่ได้
อยากใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพ ต้องอย่าหยุดลองผิดลองถูก
สำหรับคำแนะนำเรื่องการใช้ AI นั้น คุณฐิติพันธ์ แนะนำว่า ให้ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ และลองให้ครอบคลุมที่สุด เพราะเมื่อเรามุ่งมั่นจะลองผิดลองถูก เราจะไม่กลัวความผิดพลาดในการเรียนรู้ การทำงานกับ AI ช่วยให้เรียนรู้จากความผิดพลาดได้เสมอ และเมื่อลองผิดจนหมดแล้ว จากนั้นก็จะได้ลองถูกเอง
ส่วนคุณภรณ์ธนา แนะนำคล้ายกันว่าอย่ากลัวการลองผิดลองถูก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วยว่า AI ทำงานอย่างไร มีข้อดีอย่างไร ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้มากน้อยแค่ไหน และตระหนักเสมอว่า ต่อให้เป็น AI ก็สามารถผิดได้ ดังนั้นตัวเราเองอย่าลืมตรวจสอบความถูกต้อง และเรียนรู้จากเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน
ขณะที่คุณชลิต แนะนำให้ทุกคนลองเปิดใจรับ AI มาเป็นเพื่อน เป็นเครื่องมือในการทำงาน เพราะจะทำให้งานง่ายขึ้น มากกว่าการมองว่าเป็นคู่แข่ง และเมื่อเปิดใจทดลองใช้มันแล้ว จะทำให้เราขวนขวายหาข้อมูลเกี่ยวกับมันเพิ่มขึ้น ทำให้รู้ว่า AI แบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับการทำงานของเรา จนเจอสิ่งที่ใช่ในท้ายที่สุด
วิธีบริหารจัดการทีม กับการใช้งาน AI
แม้ทุกวันนี้คนจำนวนมากจะใช้ AI ในการทำงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนทั้งโลกจะใช้กันหมด แม้กระทั่งการทำงานในทีมเดียวกันเองก็อาจจะมีบางคนที่ยังไม่สนใจจะใช้งานด้วยก็ได้
หากเจอคนในทีมยังไม่สนใจใช้ AI ในการทำงาน คุณฐิติพันธ์ จะลองคุยกับคนในทีมให้เข้าใจก่อนว่า ใช้งาน AI แล้วดีอย่างไร ทั้งนี้ต้องเข้าใจวิธีการทำงาน วิธีการคิดของคนในทีมก่อนว่า แต่ละกลุ่มต้องการอะไรจากการทำงาน จะได้อธิบายถูกว่า AI เอามาใช้ในแต่ละแง่มุมได้อย่างไร
ส่วน ภรณ์ธนา เล่าว่าในน้องๆ ในทีม SANSIRI ติดตามข่าวสารเรื่อง AI และสอนเธอใช้งานด้วยซ้ำ ทำให้ที่ทำงานมีการแชร์กันเสมอ ถือเป็นการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ และยังเป็นการให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานด้วยว่า AI จะไม่ได้มาแทนที่เขา แต่มาทำให้เขาเก่งขึ้น และประหยัดเวลา ให้เขามีเวลาไปทำสิ่งดีๆ สิ่งอื่นด้วย
ด้านคุณชลิต เล่าย้อนว่าครั้งแรกที่รู้ว่า AI ทำได้ขนาดนี้ก็รู้สึกกลัวมากๆ เพราะธุรกิจของ Getty Images จะได้รับผลกระทบตรงๆ แต่พอศึกษาแล้วเข้าใจวิธีการเรียนรู้ของมัน จะพบว่ามันเป็นคนละสิ่งกับที่ Getty Images ทำเลย และเกิดการนำมาแชร์ในกลุ่มว่า จะทำอย่างไรให้เกิดเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น จะชอบหรือไม่ชอบ AI ก็ได้ แต่ขอให้ลองใช้งานก่อน เพื่อจะได้เรียนรู้และเกิดวิธีการทำงานที่แปลกใหม่ขึ้นมา
เพราะยิ่งเวลาผ่านไป AI จะมีสิ่งใหม่ๆ มากมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เริ่มลองเรียนรู้ ลองผิดลองถูกในช่วงนี้ จะถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย และคนที่ลองใช้งานมาตั้งแต่ต้นจะเป็นคนที่ได้เปรียบในการปรับตัวสู่อนาคต
อนาคตของ AI อนาคตของโลก
แม้ AI อาจเพิ่งเริ่มเขย่าโลกอย่าจริงจังไม่นานมานี้ แต่จริงๆ แล้ว AI อยู่รอบตัวเรามานานแล้วโดยที่อาจไม่รู้ตัว แถมมันจะยิ่งทรงพลังมากกว่านี้ในอนาคตด้วย
คุณชลิต เล่าว่าจากการทำงานที่ญี่ปุ่น ค้นพบว่า AI อยู่ทุกที่ ไม่แค่ ChatGPT แต่มันแฝงตัวแบบ Seamless ไร้รอยต่อโดยที่เราไม่รู้ตัว ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ที่สามารถดูแลผู้สูงอายุ มีระบบการจดจำว่า ใครชอบอะไร ไม่ชอบอะไร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีทีผ่านมาเท่านั้น แต่ AI เติบโตเร็วมากขนาดนี้ ดังนั้นมั่นใจได้ว่าในอนาคต AI จะยิ่งมาเร็วขึ้น มันจะอยู่กับเราไปตลอดเวลาจริงๆ
คุณฐิติพันธ์ มองคล้ายกันว่า AI จะแทรกซึมเข้ามาแบบ Seamless ต่อให้คุณไม่ใช้งาน ChatGPT แต่ทุกวันนี้ถ้าคุณใช้ Facebook ก็เจออัลกอริทึ่มในการคัดเลือกสิ่งที่ต่างๆ ตามหน้าฟีดโดยไม่รู้ตัว แค่นี้ก็ถือว่าอยู่กับ AI แล้ว และอนาคตมันจะยิ่งแฝงตัวมาอยู่กับเราอย่างแนบเนียนยิ่งขึ้นผ่านรูปแบบของข้อมูล Data ที่จะช่วยมนุษย์ตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังมนุษย์ที่ใช้ AI ไปในทางที่ไม่ดี เช่น มิจฉาชีพ ดังนั้นขอเพียงแค่มีความรู้เท่าทันด้านเอไอ จะเป็นเกราะป้องกันชั้นดีในการเอาตัวรอดในอนาคต
สุดท้าย คุณภรณ์ธนา เห็นด้วยว่า AI อยู่รอบตัวเรา จากที่เมื่อก่อนอาจไม่ชัดเจน แต่ทุกวันนี้ชัดเจนขึ้นมาก และเชื่อว่าในอนาคตจะมี AI อีกมากมายเกิดขึ้น จะมีทั้ง AI ที่ใช้งานได้ดีและไม่ดี จะมี AI ที่พัฒนาทันคนกับพัฒนาไม่ทัน ดังนั้น คนใช้ก็ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเองเช่นกัน